สัมมาสิกขา การศึกษาทางเลือก เพื่อฟื้นฟูวิกฤติชาติ

เรื่อง : ‘วันคืน’ / ภาพ : ภิญโญ ถวิลวัฒน์

ยามเช้าก่อนตี ๕ อาทิตย์ยังไม่มีทีท่าว่าจะทอแสง… เป็นเวลา ซึ่งหลายคน ยังคงหลับไหล

แต่สำหรับนักเรียน โรงเรียนสัมมาสิกขา ตั้งแต่วัยเริ่มรุ่น จนถึงวัยรุ่นทั้งหลาย ห้วงยามเช่นนี้ เขาจะลุกขึ้นออกกำลังกาย ในโอบล้อมของต้นไม้ใหญ่น้อย สร้างความกระปรี้กระเปร่า ก่อนเริ่มต้น แสวงหาความรู้ ในแต่ละวัน ทั้งด้านการใช้ชีวิต การงาน และ วิชาการ

ทุกด้านล้วนคือ กระบวนการเรียนการสอน ซึ่งหลอมรวมทั้งเด็ก วัด และ ชุมชนไว้ด้วยกัน


ก่อนจะเป็นสัมมาสิกขา

สัมมาสิกขา เป็นโรงเรียนเอกชน ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่เกิดจากแนวคิดของ สมณะโพธิรักษ์ นักบวช ซึ่งเป็นที่นับถือศรัทธา ของชาวอโศก ชุมชนผู้ครองชีวิตเรียบง่าย สมถะ สันโดษ ใฝ่ใจในพุทธศาสนา และ ยึดถือการพึ่งตนเอง ในท่ามกลางกระแสทุนนิยม

การใช้ชีวิตแบบพอเพียง เป็นแนวคิดที่ชาวอโศกยึดถือ และ ปฏิบัติมานานเกือบ ๓๐ ปี ในขณะที่คนส่วนใหญ่ เพิ่งหันมาให้ความสนใจ เมื่อประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย

โรงเรียนสัมมาสิกขา คือหน่อที่แตกจาก ฐานความคิดเดียวกัน

“เราเห็นว่าโรงเรียนข้างนอก เป็นการเรียนที่ไม่สมบูรณ์” ท่านโพธิรักษ์บอกเล่า

“เด็กไม่ได้เรียนศีลธรรม เด็กไม่เป็นงาน ยิ่งเรียน ยิ่งทำอะไรไม่เป็น ตั้งหน้าตั้ง เอาแต่เรียนๆ ๆ ยิ่งลูกหลานคนรวยๆ ยิ่งเอ้า….เรียนไปเลย หาครูพิเศษมาสอนให้ เก่งในทางวิชาการ คิดหัวบวมอย่างเดียว งานการไม่ต้องทำ แม้แต่น้ำจะดื่ม ก็มีคนรับใช้ตักมาให้ ในมหาวิทยาลัย ก็ไม่มีภาคปฏิบัติ สอนให้คนเป็นงาน”

โลกขณะนี้กำลังหลงยกย่อง เชิดชูแนวคิดทางวิชาการ ซึ่งหลายอย่าง เป็นไปไม่ได้ คิด ๆ ๆ ๆ แต่ทำไม่สำเร็จ แล้วคนก็ไปตั้งราคา ให้กับความคิด

“ส่วนราคา ของคนที่ลงมือทำ ด้วยการการะทำ และ ด้วยมือจริงๆ กลายเป็นราคาถูกไปหมด นี่….เป็นค่านิยม ของโลก ตั้งราคากันอย่างนี้ ทั้งโลกเลย

เราเห็นว่าแนวคิด ทางการศึกษาอย่างนี้ไปไม่รอด เลยคิดว่า ทำกันเองดีกว่า”

สัมมาสิกขาทั้ง ๖ แห่ง ทั้งที่จังหวัดนครปฐม ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครสวรรค์ และ กรุงเทพมหานคร จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลดังกล่าว โดยใช้หลัก "ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา" เป็นปรัชญาการศึกษา


การ (เรียน) งาน….ใต้ร่มเงาพุทธสถาน

ภาพเด็กหญิงผมสั้น และ เด็กชายผมเกรียน ในชุดสีน้ำเงิน ที่นั่งทำงานกับผู้ใหญ่ หรือ ชาวบ้าน ใต้เงาไม้อันร่มรื่นกว้างใหญ่ ของพุทธสถาน ทั้งที่สันติอโศก ปฐมอโศก สีมาอโศก และ ศีรษะอโศก คือภาพปกติ ที่เรามักเห็นกันอยู่ ทุกเมื่อเชื่อวัน

สิ่งนี้เป็นทั้งวิถีชีวิต และ การเรียนรู้วิชาการงาน ที่เป็นไปตามสภาพท้องถิ่น ของสัมมาสิกขา แต่ละแห่ง โดยมีชาวบ้าน และ ผู้ใหญ่ที่เชี่ยวชาญ ในการงานนั้น ๆ เป็นครู

ทุกๆ เช้า หลังตื่น และ ออกกำลังกายตอนตี ๔ ครึ่งแล้ว เด็กๆ ตั้ง แต่ ม.๑ - ม.๖ จะกระจายไปเรียนวิชาชีพ ตามความต้องการของตัวเอง ที่ฐานงาน ซึ่งมีทั้งหมด ๑๒ ฐาน อาทิ

-ฐานกสิกรรมไร้สารพิษ ฝึกปลูกผัก

-ฐานปุ๋ยสะอาด เรียนรู้การทำปุ๋ยจากขยะในชุมชน

-ฐานจักร เย็บผ้า

-ฐานสมุนไพร ทำยา แชมพู สบู่

-ฐานจุลินทรีย์ ทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาดับกลิ่นตัว ฯลฯ

เช้าวันหนึ่งในช่วงปลายหนาว เมื่อก้าวสู่โรงเรียน สัมมาสิกขาสันติอโศก ย่านสุขาภิบาล สิ่งที่สัมผัสได้ เป็นเบื้องแรก คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ของเด็กๆ ในชุดสีน้ำเงิน เมื่อพบผู้ใหญ่ แม้จะแปลกหน้า เขาก็ไหว้ทักทายด้วยรอยยิ้ม ก่อนจากไปทำหน้าที่ ของตัวเอง

ภายในอาณาบริเวณ ที่โอบล้อมด้วย ธรรมชาติชื่นเย็น ของต้นไม้ โตรกผา ธารน้ำ กว่า ๖ ไร่ ถูกจัดแบ่งเป็น กุฏิสมณะ อาคารเรียน ฯลฯ รวมถึงฐานงาน ซึ่งมีทั้งในอาคาร และ ใต้ร่มไม้ ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่เรียน

ขณะเดินผ่านทางสู่อาคารเรียน เราได้พบเด็กหญิงชาย ๒ คน กำลังช่วยกันเทส่วนผสม และ กวนน้ำในถัง ง่วนอยู่ที่ศาลาใต้ต้นไม้

“ทำอะไรกันอยู่คะ”

“ทำน้ำยาซักผ้าค่ะ”

กระแต นักเรียนชั้น ม.๒ ซึ่งประจำอยู่ฐานงานจุลินทรีย์ ตอบด้วยรอยยิ้ม พร้อมเล่าต่อว่า นี่เป็นเทอมที่ ๒ แล้ว ที่เธอได้เรียนอยู่ในฐานนี้ ฝึกทำมาหลายอย่าง ทั้งน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ปุ๋ย ฯลฯ

ถัดไปอีกมุมหนึ่ง เด็กชายวัยเริ่มรุ่น กำลังทำงานไม้ขะมักเขม้น เขาอยู่ในฐานงานช่าง

เหล่านี้คือบางส่วน ของการศึกษาเล่าเรียน ในช่วงเช้า

หลังเที่ยงครึ่ง ทุกคนจะเตรียมสมุด และ เครื่องเขียน ไปเรียนวิชา ตามหลักสูตร กระทรวงศึกษาธิการ อีกวันละประมาณ ๕ คาบ

“เราไม่ได้ดูถูก ชาญวิชา แต่ถ้าวิชามันเฟ้อ อย่างการศึกษาทุกวันนี้ คนเรียนวิชามา ๑๐๐% กว่าจะจบ ไม่รู้ต้องเรียนตั้งกี่วิชา เอามาใช้ในชีวิตจริง ไม่ถึง ๓๐% ด้วยซ้ำ

ความสูญเสียอันนี้ สังคมไม่เคยคิด มันเป็นความสูญเสีย ทั้งทุนรอน ทั้งเวลา และ ทั้งแรงงาน”

โดยเฉพาะเรื่องไม่ได้ใช้จริง ใช้ตรงกับชีวิตประจำวัน ตรงกับภูมิภาคภูมิประเทศ ของตนด้วย การไปเรียนเอาความรู้ ที่ไหนก็แล้วแต่ มันเหมาะสมกับถิ่นของเขา เราไปเรียนตามเขา แล้วก็ไม่ได้อยู่ในถิ่นนั้น และ สิ่งที่เรียน ก็ไม่ได้เหมาะสมกับภูมิภาค องค์ประกอบ สิ่งแวดล้อม ของตัวเอง

ผู้เรียนไม่ได้คิดว่า วิชาความรู้ที่เรียน โดยเฉพาะที่ต้องเอามา ประกอบการงาน มันเกี่ยวข้องกับ แวดวง ถิ่นฐานบ้านช่อง ของตนหรือเปล่า

พอจบออกมาแล้ว จึงไม่รักถิ่น จะประกอบการงาน อยู่กับถิ่นกับที่ ก็ไม่ได้ เพราะความรู้ ไม่ได้สอดคล้อง กับที่ตัวเองเป็นอยู่จริง เลยทิ้งถิ่นฐานอาชีพการงาน ของเดิม ของหลัก ของแหล่ง เละเทะไปหมด ชุมชน ทรัพยากร ป่าไม้สูญเสียหมด”

เป็นคำกล่าว ของสมณะโพธิรักษ์ ซึ่งเป็นเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทร ของชุมชนแห่งนี้ ท่านจึงได้จัด สัดส่วนการศึกษา ออกเป็น ศีล ๔๐% ทำงาน ๓๕% และ วิชาการอีก ๒๕%

นักเรียนที่นี้ จึงต้องรักษาศีล ๕ และ รับประทานมังสวิรัติ ซึ่งอยู่ในส่วนรักษาศีล ข้อที่ ๑ ว่าด้วยการห้ามฆ่าสัตว์ เรียนรู้หลักธรรม ทางพุทธศาสนากับสมณะ และ ศึกษาวิชาการกับครู ซึ่งเด็กจะเรียกด้วยความรู้สึกอบอุ่น เสมือนเป็นเครือญาติว่า คุณอา รวมไปถึงเรียนการงาน จากชาวบ้าน และ ผู้ใหญ่ในชุมชน


มุ่งมั่น…ฝึกฝน…เรียนรู้ด้วยหัวใจ

“เด็กของเราจะต้องเรียน และ ใช้กำลังงานฝึกฝนถึง ๓ เท่า ของการเรียนข้างนอก ซึ่งเรียนกัน แต่ตัวหนังสือ เช้าไปเรียน เย็นกลับ ไม่ได้กังวลเรื่องศีล ปฏิบัติการงาน แต่ที่นี่ ฝึกฝนให้ทำงาน ตั้งแต่ช่วยตัวเอง ไม่หยิบโหย่ง เช็ด ปัด กวาด ถู ซักรีดเสื้อผ้า หุงข้าวหุงน้ำ ทำนา ทำสวน

เมืองไทยเป็นเมืองกสิกรรม มีพลเมืองที่เป็นกสิกร ตั้ง ๗๐-๘๐% เราจะไปดูถูก ดูแคลนไม่ได้ เด็กจะได้รู้สึกสำนึกว่า ทำไร่ ทำนา ทำสวน มันยากขนาดไหน แม้ต่อไป เขาจะไม่ทำก็ไม่เป็นไร แต่เขาจะรู้สึก และ รู้จักเห็นอกเห็นใจ…. นี่ก็เพิ่งกลับมาจากโคราช เด็กกรุงเทพฯ ไปช่วยเขาเกี่ยวข้าว ต่างจังหวัด (ยิ้ม)”

ความอดทน และ ขยันหมั่นเพียร นับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการคืบคลานสู่เป้าหมาย การเป็นคนดี มีชีวิตที่จริง และ มีความสุขอย่างมีคุณค่า ตามแนวทางศาสนา ไม่เป็นคนโลภโมโทสัน เอารัดเอาเปรียบ รู้จักการเลี้ยงตน และ มีชีวิตอยู่ อย่างพอเหมาะพอดี ซึ่งเป็นแนวคิดที่ สวนกระแสหลักนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

กระทั่ง การเข้ามาเป็นนักเรียน ก็ต้องผ่านการเลือกเฟ้น หลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ ความสมัครใจ ของทั้งพ่อแม่ และ ตัวเด็ก ไปจนถึงการสอบข้อเขียน สัมภาษณ์ และ การเข้าค่าย ให้เด็กลองใช้ชีวิต และ ฝึกความอดทน และ วิธีปฏิบัติตน ตามแนวทาง ของสัมมาสิกขา อีก ๓ ค่าย

“เราพยายามที่จะคัดเลือกว่า เด็กจะเข้าใจในทิศทางนี้ หรือไม่ และ อดทนพอมั้ย นี่เป็นแกนหลัก เขาต้องเข้าใจว่า เราไม่ใช่เป็นคนที่เกิดมา จะเห็นแก่โลกียสุข รู้ว่าการเสียสละ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข เป็นการสร้างสรรค์

การเผื่อแผ่คนอื่นได้ เป็นคุณค่าของเรา ถ้าเราให้เขา นั่นคือเราได้

เมื่อเข้าใจแล้ว ต้องทดสอบความอดทนด้วย ต้องฝึกให้เสียสละ ล้างกิเลส อีกอย่างที่ต้องพูด จะหมั่นไส้ยังไงก็ยอม หรือ บางคนจะเพ่งโทษด้วย คือไม่ว่าเด็ก จะเรียนมาจากที่ไหน ชั้นไหน ถ้ามาเริ่มที่นี่ ต้อง ม.๑ ใหม่หมด บางคนจบ ม.๕ มา ก็ต้องสตาร์ทเรียน ม.๑ ใหม่ ไม่รับกลางคัน เดี๋ยวจะเกิดการลักลั่น ในการสอน ยิ่งโตมากยิ่งหัวแข็ง รับอะไรมามากๆ เด็กรุ่นน้องที่นี่ก็แย่ เรามีกฎอย่างนี้ บางคนไม่เข้าใจ หาว่าเราอวดดี หมั่นไส้ ไม่รู้เรื่องการปกครอง เรื่องการสอน โอ้โฮ… เรื่องนี้ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

การมาเรียนที่นี่ พ่อแม่ต้องเต็มใจ และ เด็กต้องเต็มใจเอง เพราะเด็กนี่แหละสำคัญ ถ้าอยู่ไม่รอด ก็ลำบากกันไปหมด แต่ยังมีแฝงๆมา พ่อแม่บังคับบอกให้ลูกบอกว่า อยากมาเอง แล้วก็อยู่ไม่นาน ไปไม่รอด เพราะมันไม่ง่าย”

นักเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก ทั้ง ๕๒ คน มีทั้งที่มาจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หลากหลายฐานะ มีตั้งแต่ลูกชาวบ้าน ไปจนถึงลูกคนร่ำรวย ที่สามารถไปท่องเที่ยว ต่างประเทศ ได้ทุกปิดเทอม แต่เมื่อมาถึงที่นี่ ทุกคนต้องเป็นนักเรียนประจำ และ ปฏิบัติตัวเหมือนกัน ไม่มีใครเป็น ‘คู่ต่อสู้’ ของใคร และ ถ้าจะให้ถึงแนวที่ ท่านโพธิรักษ์วางไว้ ก็คือเป็นพี่เป็นน้อง พึ่งเจ็บพึ่งตายกันได้ อย่างแท้จริง


ครูที่แท้….เปลี่ยนแปรเป็นปัญหา

ครู ของที่นี่ส่วนใหญ่ มีดีกรีระดับปริญญา และมีไม่น้อย ที่เคยเป็นครูโรงเรียน ในระบบมาก่อน ทุกคนสมัครใจมาสอน และ ให้ความรู้แก่เด็กด้วยใจ โดยไม่รับเงินตอบแทน

ด้วยเหตุว่าที่นี่เป็น ชุมชนบุญนิยม มารวมกันด้วยปัญญา ความเข้าใจ มีวิธีคิด และ การดำเนินชีวิต ที่แตกต่างจาก สังคมกลุ่มอื่นมาก

“คนที่จะมาร่วมชุมชนของเรา ต้องมีปัญญาเข้าใจจริงๆ ว่ามานี่ ต้องมาเป็นคนชนิดนี้ คนที่จะเป็นอยู่ อย่างสุขสบายก็ดี เป็นคนดีคนประเสริฐก็ดี ต้องเป็นคนตามปรัชญาของเรา อาจถูกด่า ถูกติเตียนด้วย ว่าบ้าหรือเปล่า แต่เราต้องหนักแน่น ต้องมีปัญญาพอจะมา ทำสิ่งเหล่านี้

คนมาที่นี่มีปริมาณน้อย เพราะเราไม่มีเงินจ้าง ไม่ได้กอบโกย โลภโมโทสัน มีแต่จะพัดออก เสียสละ ไม่กักตุน เราไม่สอนให้สะสม กอบโกยเลย เราจึงไม่มีทุนรอนมาก

คนจะมาเป็นครู เราพูดเรื่องการเรียน การศึกษาว่า คือการมาเสียสละ ต้องสมัครใจ เต็มใจที่จะทำ พิสูจน์สิว่า ในโลกนี้ ในสังคม จะมีคนมีจิตวิญญาณที่ดี เข้าใจว่าทำงาน เพื่องาน ไม่ใช่ทำงาน เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข จะสำเร็จได้มั้ย

เยาวชนของเรา ซึ่งหล่อหลอมมาอย่างนี้ ต้องได้ครูเป็นตัวอย่าง เด็กจะซึมซับ อย่างไม่รู้ตัว เพราะเขาเห็นครูเสียสละ เอาใจใส่ยิ่งกว่า ครูที่รับค่าจ้าง ได้ตำแหน่งซี ๘ หรือ มีเหรียญตรา”

ทว่าการเสียสละเช่นนี้ กลับกลายเป็นชนวน ก่อให้เกิดอุปสรรค ต่อการทำงาน เพราะขัดกับกฎกระทรวง ที่บังคับให้ครู ต้องมีเงินเดือน

“ครูมาทำงาน โดยไม่รับเงินเดือน เขาบอกผิดกฎหมาย เราก็ไปอธิบายว่า เขามาโดยสมัคร เต็มใจที่จะเป็นครู ด้วยการเสียสละ และ ปรารถนาดีต่อเยาวชนจริงๆ เขาก็ยืนกระต่ายขาเดียวว่า ต้องจ่ายเงิน แล้วต้องหักเงิน ไปสมทบสงเคราะห์

ทุกวันนี้ใช้เงิน ของมูลนิธิ ไม่ได้เก็บเงินเด็ก เราก็บอกไม่มี เขาบอกไม่ได้ เรื่องก็คาอยู่ตรงนี้

ทำไมนะ กระทรวงศึกษาธิการ คือกระทรวงที่สร้างคน ให้มีคุณธรรม สร้างคนให้เป็น พลเมืองดี เป็นประโยชน์ต่อสังคมโลก โดยครูก็ต้องเป็นประโยชน์แก่สังคม ให้เห็นก่อน เยาวชนจะได้เห็นตาม เขาก็เอาจารบุรุษ มาสอดแนมเป็นปีๆ เราก็เต็มใจ ทำไมจะต้องเอาหลักเกณฑ์ มาใช้กับเรา เราอยากจะเอาคำที่ ในหลวงตรัส ที่บอกว่า กฎหมายตั้งขึ้นมา เพื่ออยากจะให้สังคมได้ดี แต่ว่ากฎหมาย ก็ควรจะนึกถึง ทั้งนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ไม่น่าต้องยืนยันแต่นิติศาสตร์ อาตมายังคิดว่า ในหลวงช่วยไว้อีกแล้ว

ท่านตรัสว่า กฎหมาย ไม่ใช่ตายตัว ความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียง บทบัญญัติ หรือ ปัจจัยที่ตราไว้ เพื่อรักษาความยุติธรรม ผู้ใดก็ตาม แม้ไม่รู้กฎหมาย แต่ถ้าประพฤติด้วย ความสุจริตแล้ว ควรจะได้ความคุ้มครอง จากกฎหมายเต็มที่ ตรงกันข้าม คนที่รู้กฎหมาย หรือ ใช้กฎหมาย ไปในทางทุจริตแล้ว ควรต้องถือว่าทุจริต และ กฎหมายไม่ควรคุ้มครอง จนเกินเลยไป เพราะฉะนั้น จึงไม่สมควรที่จะถือว่า การรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน มีวงกว้างอยู่ เพียงแค่ขอบเขต ของกฎหมาย จำเป็นต้องขยายออกไป ให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุผล และ ความเป็นจริงด้วย นี่คือพระบรมราโชวาท”

อุปสรรคยังคงมีอยู่ เสมือนจะท้าทายจุดยืน และ หัวใจที่แข็งแกร่ง ให้ยืนหยัดสู้

“ที่เราเลือกเป็นโรงเรียน ในกรมสามัญฯ เพราะอยากให้เด็ก มีหลักประกัน มีใบสุทธิไปเรียนต่อ ไม่ต้องตัดขาดจากสังคม ถ้าไม่มีใบเหล่านี้ เราจะไปอย่างไร เราเลยจำนน และ ต้องทำอย่างนี้ ซึ่งมันก็มีปัญหา ในเรื่องแนวคิดที่ต่างกันอยู่ ต้องพยายามหา จุดลงตัว”


สู่เส้นทางพึ่งตนเอง

ด้วยปรัชญา ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา และ แนวการเรียนการสอน ในแบบของสัมมาสิกขา ย่อมส่งผลให้เด็ก พึ่งพิงตนเองได้ โดยเฉพาะในเชิงวิชาชีพ เพราะการเรียนตามฐานงาน นอกจากทำให้เด็ก มีวิชาชีพติดตัวแล้ว ยังทำให้มี ของใช้ในชุมชน และ ส่งจำหน่าย ให้บุคคลภายนอก ในราคาถูก ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ผ่านร้านพลังบุญ และ บริษัท แด่ชีวิต จำกัด ซึ่งเป็นเสมือน ตลาดรองรับสินค้า จากเด็กๆ และชุมชน

อาหารสด อาหารแห้ง เครื่องดื่ม ยาสมุนไพร แชมพูสระผม ข้าว และ ผักปลอดสารพิษ หลายส่วน ล้วนมาจากฝีมือ ของนักเรียน

“นักเรียนที่จบ ม.๖ บางคนไปสอบเอ็นทรานซ์ผ่าน เข้ามหาวิทยาลัยก็มี บางคนออกมาทำร้านผลิต และ ขายสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” เป็นเสียงของอาจารย์ฟังฝน ซึ่งเป็นคุณครูใหญ่ ของสัมมาสิกขา สันติอโศก

ส่วนการก้าวสู่โลกภายนอก สมณะโพธิรักษ์กล่าวว่า

“เด็กที่เรียนจบไปแล้ว ถ้าเขามีพลังอินทรีพละ ของภูมิธรรมจริงๆ ก็ไปอยู่ข้างนอกได้ จะรู้เท่าทันว่า อะไรมอมเมา อะไรเป็นอบายมุข

เขาแข็งแรงนะ เขารู้เท่าทันจิตวิญญาณ ของมนุษย์ที่อุเบกขา ถ้ามีจิตแข็งแรงถึงขั้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข หรือ มีคุณธรรมตรงนี้แล้ว เขาจะวางเฉย ไม่ลำบากลำบนอะไรหรอก เพราะเด็กที่นี่ สอนถูกหลัก มรรคองค์ ๘

เด็กจะไม่งอมืองอเท้า ไม่โกงเอารัดเอาเปรียบ มีแต่จะเสียสละ เป็นพลเมืองดี ที่จะช่วยคนอื่นได้ด้วย แต่แน่นอน จะหนักแน่น เพราะการต่อสู้ ทำงานอาชีพอยู่กับคน ในระบบทุนนิยม มัน ‘เขี้ยว’ ถ้าเด็กอยู่ได้ เขาจะช่วยสังคมได้ อย่างแท้จริง

เขาจะได้ภูมิคุ้มกันพอสมควรไปจากที่นี่ ถ้าไม่ได้ ก็เป็นพลเมืองเหมือนกับ ชาวโลกนั่นแหละ แต่เชื่อว่า เขามีเชื้อดี ผสมเข้าไปอยู่บ้างแล้ว

แท้จริงแล้ว เราไม่ได้สอนเด็ก เพื่อออกไปสู่สังคมข้างนอก แต่สอนให้เด็ก ยืนหยัดยืนยัน อยู่เป็นกลุ่มคนอย่างนี้ เพื่อสร้างสังคมอย่างนี้ออกไป ไม่ใช่จะไปเอาอย่างข้างนอก

จะไปเป็นอย่างเขาทำไมกัน มันล้มเหลวแล้ว มันล่มสลาย มันร้อนไปทั้งกาม อัตตา มานะ ทุจริต อบายมุข ทั้งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ร้อนแรงหมดแล้ว มาที่นี่ มาเย็นมาขยัน มาเป็นคนสงบ มีคุณค่า ไม่ไปก่อเรื่องก่อราว อาจพูดอย่างอวดดีมากเลยนะ ทำอย่างเรา เพื่อให้เขา มาเป็นอย่างเรา”

เพราะเชื่อมั่นในแนวคิด การพึ่งตนเอง และ กินอยู่แบบพอเพียง สัมมาสิกขา จึงสร้างโรงเรียน นักเรียน และ ชุมชนที่สอดคล้องขึ้นมา สำหรับผู้ค้นหา ทางเลือกแห่งการศึกษา ที่เป็นหนึ่งเดียวกับ การใช้ชีวิต

(จากนิตยสาร Life&Family ฉบับที่ 59 ปีที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า106-110)